เฝ้าระวังสถานการณ์ระบาดของโรคไหม้

เชื้อโรคไหม้ (Pyricularia oryzae)

ด้วยสำนักงานเกษตรจังหวัดปทุมธานีได้รับแจ้งจากศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี เรื่องได้สำรวจพบการเข้าทำลายของเชื้อโรคไหม้ ซึ่งเกิดจากเชื้อ Pyricularia oryzae พบการเข้าทำลายในระยะแตกกอซึ่งสภาพอากาศค่อนข้างเย็น และมีลมพัดแรง ทำให้เชื้อสามารถแพร่กระจายได้ดี โดยทำการสำรวจพบโรคไหม้ข้าวระยะคอรวง โดยพบว่าใบข้าวมีแผลจุดสีน้ำตาลคล้ายรูปตา มีสีเทาตรงกลางแผล และเริ่มมีแผลลุกลามติดต่อกันได้ที่บริเวณคอรวง

แนวทางป้องกันกำจัด
1.ในกรณีที่พบโรคไหม้มีอาการรุนแรง หรือพบพื้นที่ใบเสียหายจากการเป็นโรคถึง 10% ในข้าวระยะกล้าถึงแตกกอเต็มที่ และ 5% ในข้าวระยะตั้งท้อง หรือพบแผลโรคไหม้ที่ใบธง ควรใช้สารป้องกัน กำจัดโรคพืช เช่น ไตรไซคลาโซล(Tricyclazole) ไอโซโปรไธโอเลน(Isoprothiolane) และควรใช้เฉพาะในระยะกล้า-แตกกอ ตามอัตราที่ระบุ
2.ในฤดูปลูกต่อไป ควรเลือกใช้พันธุ์ที่ค่อนข้างต้านทานโรคไหม้ เช่น สุพรรณบุรี1 สุพรรณบุรี60 ปราจีนบุรี1 พลายงาน และพิษณุโลก1 เป็นต้น
3.หว่านเมล็ดพันธุ์ในอัตราที่เหมาะสมคือ 15-20 กิโลกรัมต่อไร่ และใส่ปุ๋ยตามอัตราที่แนะนำหรือตามค่าวิเคราะห์ดิน
4.คลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น คาซูกะมัยซิน(K
asugamycin) ไตรไซคลาโซล(Tricyclazole) คาร์เบนดาซิม(Carbendazim) โปรคลอลาซ(Prochloraz) ตามอัตราที่ระบุ

ข้อควรระวัง โรคไหม้จะแสดงอาการรุนแรงเมื่อสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวย เช่น ฝนพรำ มีหมอก น้ำค้างจัด อากาศเย็น จึงควรแบ่งแปลงให้มีการระบายอากาศที่ดี ไม่หว่านเมล็ดพันธุ์มากเกินไป และไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในอัตราที่สูงเกินไป ถ้าสูงเกิน 50 กิโลกรัมต่อไร่ โรคไหม้จะพัฒนาอย่างรวดเร็ว

ข้อความนี้ถูกเขียนใน ประกาศข่าว คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *