ข้อมูลเตือนภัยการเกษตร

ด้วงแรดมะพร้าว
ข้อสังเกตและลักษณะอาการ ตัวเต็มวัยเข้าทำลายพืช โดยการบินขึ้นไปกัดเจาะโคนทางใบหรือยอดอ่อนของมะพร้าว รวมทั้งเจาะทำลายยอดอ่อนที่ยังไม่คลี่ ทำให้ใบที่เกิดใหม่ไม่สมบูรณ์มีรอยขาดแหว่งเป็นริ้วๆ คล้ายหางปลา หรือรูปพัด ถ้าโดนทำลายมากๆจะทำให้ใบที่เกิดใหม่แคระแกรน รอยแผลที่ถูกด้วงแรดมะพร้าวกัดเป็นเนื้อเยื่ออ่อนทำให้ด้วงงวงมะพร้าวเข้ามาวางไข่ หรือเป็นทางให้เกิดยอดเน่าจนถึงต้นตายได้ในที่สุด ด้วงแรดมะพร้าวในระยะตัวหนอน ส่วนใหญ่พบตามพื้นดินในบริเวณที่มีการกองปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกจะกัดกินและทำลายระบบรากของมะพร้าวปลูกใหม่ ทำให้พบอาการยอดเหี่ยวและแห้งเป็นสีน้ำตาล ต้นแคระแกรนไม่เจริญเติบโต
แนวทางป้องกัน/แก้ไข
๑. วิธีเขตกรรม ทำความสะอาดบริเวณสวนมะพร้าวเพื่อกำจัดแหล่งขยายพันธุ์เป็นวิธีที่ใช้ได้ผลดีมานาน ถ้ามีกองปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก กองขยะ กองขี้เลื่อย แกลบ ควรกำจัดออกไปจากบริเวณสวน หรือกองให้เป็นที่ แล้วหมั่นกลับเพื่อตรวจดูหากพบหนอนให้จับมาทำลายหรือเผากองขยะนั้นเสีย ส่วนของลำต้นและตอมะพร้าวที่โค่นทิ้งไว้หรือมะพร้าวที่ยืนต้นตายควรโค่นลงมาเผาทำลาย ต้น
มะพร้าวที่ถูกตัดเพื่อปลูกทดแทน ถ้ายังสดอยู่เผาทำลายไม่ได้ ควรทอนออกเป็นท่อนสั้นๆ นำมารวมกันไว้ปล่อยให้ผุสลายล่อให้ด้วงแรดมะพร้าวมาวางไข่ ด้วงแรดมะพร้าวจะวางไข่ตามเปลือกมะพร้าวที่อยู่ติดกับพื้นดินเพราะมีความชุ่มชื้นสูงและผุเร็ว เผาทำลายท่อนมะพร้าวเพื่อกำจัดทั้งไข่ หนอน และดักแด้ของด้วงแรดมะพร้าว ตอมะพร้าวที่เหลือให้ใช้น้ำมันเครื่องใช้แล้วราดให้ทั่วตอเพื่อป้องกันการวางไข่ได้
๒. การใช้ชีววิธี ใช้เชื้อราเขียวเมตาไรเซียม (Metarhizium sp.) ใส่ไว้ตามกองขยะ กองปุ๋ยคอก หรือท่อนมะพร้าวที่มีหนอนด้วงแรดมะพร้าวอาศัยอยู่ เกลี่ยเชื้อให้กระจายทั่วกอง เพื่อให้เชื้อมีโอกาสสัมผัสกับตัวหนอนให้มากที่สุดรดน้ำให้ความชื้น หาวัสดุ เช่น ใบมะพร้าวคลุมกองไว้เพื่อรักษาความชื้นและป้องกันแสงแดด เชื้อจะทำลายด้วงแรดมะพร้าวทุกระยะการเจริญเติบโต
๓. การใช้สารเคมี ๓.๑ ต้นมะพร้าวอายุ ๓-๕ ปีซึ่งยังไม่สูงมากนัก ใช้ลูก เหม็นใส่บริเวณคอมะพร้าวที่โคนทางใบรอบๆ ยอดอ่อน ทาง ละ ๒ ลูกต้นละ ๖-๘ ลูก กลิ่นของลูกเหม็นจะไล่ไม่ให้ด้วง แรดมะพร้าวบินเข้าไปทำลายคอมะพร้าว ๓.๒ ใช้สารฆ่าแมลงไดอะซินอน ๖๐% อีซีอัตรา ๘๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ คาร์โบซัลแฟน ๒๐% อีซี อัตรา ๘๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร ราดบริเวณคอมะพร้าว ตั้งแต่โคนยอดอ่อนลงมาให้เปียก โดยใช้ปริมาณ ๑-๑.๕ ลิตรต่อต้น ทุก ๑๕-๒๐ วัน ควรใช้ ๑-๒ ครั้ง ในช่วงระบาด 

ข้อความนี้ถูกเขียนใน ประกาศข่าว คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *